ไทโส้ กุสุมาลย์

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์โส้
               ชาวโส้โดยลักษณะของการจัดกลุ่มชาติพันธุ์ของมนุษย์ชาติแล้ว ก็ถือว่าเป็นกลุ่มมองโกลอยด์ตระกูลออสโตรเอเชียติค มอญ- เขมร ชนเผ่าโส้นี้ Frank  M. Lebar  นักมนุยวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้จัดชนเผ่าโส้ไว้อยู่ในกลุ่มข่าเช่นเดียวกับพวก กะเลิง และพวกแสก ในเอกสารชั้นต้นของไทยเมื่อกล่าวถึงโส้มักจะเรียกว่า ข่ากระโส้ มากกว่าเรียกว่า โส้ แสดงให้เห็นถึงการแตกแขนงของพวกข่ามากมายหลายพวกรวมทั้งพวกโส้ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของข่า
         พันตรีอีริค  ไซเด็นฟาเดน  ได้บรรยายลักษณะรูปร่างของชาวโส้ในงานวิจัยภาคสนามที่อำเภอกุฉินารายณ์ โดยใช้ตนเองซึ่งเป็นชาวตะวันตก มาเปรียบเทียบ ตอนหนึ่งว่า ชาวโส้มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน เตี้ย ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1.40 เมตร ถึง 1.60 เมตร ผู้ชายส่วนมากผอมรูปใบหน้าของพวกโส้เป็นรูปไข่ แบน จมูกเล็กไม่โด่ง ปลายจมูกแบน ริมฝีปากมีสีน้ำเงินเข้มและเท่ากันทั้งล่างและบนผู้ชายบางคนปลูกหนวดที่คางแต่บางๆ ผมของชาวโส้ยาวประมาณครึ่งนิ้วและออกสีค่อนข้างเหลือง ส่วนผมของสตรีจะเป็นลอนโดยธรรมชาติ  ขนตามร่างกายสั้น นิ่ม และออกสีค่อนข้างเหลือง นัยตาส่วนที่เป็นสีขาวออกสีเหลืองผิวของชาวโส้ที่อยู่ในร่มเสื้อผ้ามีสีแดงเรื่อๆ แต่ส่วนที่อยู่ข้างนอกจะออกสีคล้ำ เด็กเล็กๆจะมีจุดสีดำตามผิวหนัง แต่จุดนี้จะหายไปเมื่ออายุได้ 31 วันขึ้นไป ผู้ชายนิยมสักขาลายจากเหนือเข่าขึ้นไปถึงขาอ่อนผู้หญิงสักที่ท้องและเอวด้วยลวดลายแบบรวงข้าวหรือลายดอกไม้นานาพันธุ์   เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน ความนิยมในการสักขาลายหรือท้องลายได้เสื่อมสลายไปและหาดูได้ยากในหมู่ชาวโส้ตลอดจนชนเผ่าพันธุ์อื่นๆ ทั้งนี้เพราะการวิจัยดังกล่าวได้เขียนขึ้นนานถึง 38 ปีแล้ว
         ความเชื่อของชาวโส้เองก็ยังเชื่อว่าตนเป็นข่าพวกหนึ่งแต่มิใช่ข่าที่ป่าเถื่อนยังมิได้พัฒนา ความเชื่อที่ว่าพวกตนเองเป็นพวกข่านั้นเห็นได้จากประเพณีการลักพาตัวเจ้าสาวซึ่งยังมีเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน ตามแบบในวรรณกรรมเรื่องสินไซหรือสังข์ศิลป์ชัย แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะมีชนหลายกลุ่มอ้างว่าเป็นของตนแต่ชาวโส้ก็อ้างว่าเป็นวรรณกรรมของพวกอ้ายก๊ก หรือชนพวกแรกที่ออกมาจากน้ำเต้าด้วยการใช้เหล็กเผาไฟไซรูน้ำเต้าการอ้างตนเองว่าเป็นอ้ายก๊กนี้ยัง ปรากฏในนิทานของพวกโส้เรื่องกษัตริย์ อ้ายก๊ก ผู้ที่มีปัญหาและคิดประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้สอนประชาราษฎร์ของพระองค์ให้รู้จักอ่านเขียนหนังสือแต่โชคไม่ดีเมื่อพระองค์ทำสงครามกับศัตรูจนถูกทำร้ายจนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ยิ่งกว่านั้น สุนัขยังเข้าไปในบ้านพระองค์และคาบเอาหนังควายซึ่งบันทึกตัวอักษรไว้ไปกินเสียอีกจึงทำให้ ชาวโส้ไม่มีตัวอักษรขีดเขียนเหลือแต่ภาษาพูดเท่านั้น
ถิ่นเดิมก่อนอพยพ  พงศาวดารเมืองแถงกล่าวถึงลักษณะบางประการที่พอจะใช้สันนิษฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวโส้ได้ กล่าวคือ กลุ่มที่ออกมาจากน้ำเต้านั้นเริ่มด้วยข่าแจะ ผู้ไทยดำ ลาว พุงขาว ฮ่อ และพวกข่าแจะถือเป็นพี่ใหญ่เพราะออกจากน้ำเต้าปุงก่อนเพื่อน แต่ไม่สู่น้องๆไม่ได้    ที่สามารถตั้งบ้านเรือนทำมาหากินเป็นล่ำสันแต่ข่าแจะไม่มีบ้านเมืองเที่ยวตั้งตูบและกระท่อมอยู่ตามซอกเขาท้ายเขาทำนาข้าวไร่ อาศัยน้ำฝนน้ำค้างปลูกพริก มะเขือ และผักต่างๆ พอเลี้ยงชีวิตหารู้จักปั่นฝ้ายและทอผ้าไม่จึงเก็บข้าวผักต่างๆมาแลกผ้ากับน้องลาว และน้องไทยไปนุ่งห่มบางกลุ่มก็อาศัยกับพวกลาวหรือผู้ไทย จากข้อความดังกล่าวนี้อาจพิจารณาได้ว่าการตั้งเป็นกลุ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของพวกชาวโส้นั้น อาจหายากเมื่อเปรียบกับพวกผู้ไทยและจาลักษณะบางประการของชนพวกข่ามักไม่ค่อยออกมาทำมาหากินเผชิญกับสังคมภายนอก ในปัจจุบันตามท้องที่ในจังหวัดนครพนมและสกลนคร ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ปรากฏในเอกสารว่าเมืองของชาวโส้ในบริเวณฝั่งซ้ายนั้นมีเมืองอะไรบ้าง
อย่างไรก็ดีจากการสอบถามชาวโส้ในท้องที่อำเภอกุสุมาลย์และชาวโส้แห่งอื่นๆว่าบรรพบุรุษย้ายมาจากเมืองใด มักได้รับคำตอบว่ามาจากเมืองมหาชัยกองแก้ว โดยเจ้าเมืองยโสธรเป็นผู้ยกกองทัพไปตีเมืองมหาชัยกองแก้ว แต่ชาวโส้จำนวนไม่น้อยกล่าวว่าตนมาจากเมืองอู่เมืองวังหรือเมืองบ้ำ ซึ่งเป็นการยากต่อการสืบค้นชื่อเมืองเหล่านี้ว่าในปัจจุบัน หมายถึงเมืองอะไรนอกจากเมืองวัง ซึ่งหมายถึงเมืองวังในกลุ่มเมืองพิน เมืองนอก เมืองตะโปน
การอพยพเข้าสู่เมืองสกลนคร   การที่ชาวโส้ยืนยันว่าบรรพบุรุษของตนเองมาจากเ มือง มหาชัยกองแก้วบ้าง มาจากเมืองบกเมืองวัง เมืองบ้ำเมืองวัง แสดงว่าชนกลุ่มโส้ที่อยู่ในอำเภอกุสุมาลย์นี้มาจากหลายแหล่งและมาหลายรุ่น  จากการสอบถามชาวโส้ในกุสุมาลย์จะบอกแหล่งที่มาส่วนใหญ่คือ มหาชัยกองแก้วและกลุ่มเมืองวัง เพื่อการพิจารณาสาเหตุในการอพยพจึงควรกล่าวถึงประวัติของเมืองเหล่านี้ประกอบการสันนิษฐานเรื่องเมืองมหาชัยกองแก้วดังนี้
        จากหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าอนุวงศ์ในด้านการสงครามจะพบว่า กองทัพไทยได้เข้ายึดนครเวียงจันทน์ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม        พ.ศ. 2371 หลังจากนั้นก็กลับมาทำลายนครเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 ขณะที่ไทยทำสงครามสู้รบกับกองทัพของเจ้าอนุนั้นเจ้าอนุได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากเจ้าจุลนี   ( พระพรหมอาษา ) ซึ่งมีฐานะเป็นญาติพี่น้องโดยการแต่งงานให้ลูกชายและลูกสาวเป็นดองซึ่งกันและกัน เมื่อกองทัพไทยยกทัพมาปราบและโจมตีเวียงจันทน์เจ้าอนุได้หลบหนีมาอยู่เมืองมหาชัยกองแก้ว เมื่อกองทัพของพระยาราชสุภาวดียกกองทัพมาตีเมืองมหาชัยกองแก้วเจ้าอนุและเจ้าจุลนีพร้อมด้วยญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งก็พากันหลบหนีไปทางเมืองเซ เมืองกะปอม และไปอาศัยในเขตแดนญวน ตัวเจ้าจุลนีได้ขอกำลังจากญวนเข้ายื้อแย่งเมืองมหาชัยกองแก้วจากทหารไทยแต่กองทัพไทยก็ลาดหลบหนีมาตั้งมั่นที่เมืองนครพนมและลงไปยึดเมืองคืนไว้ได้อีก  พฤติการณ์ของเจ้าจุลนีแห่งเมืองมหาชัยกองแก้ว ทำให้แม่ทัพไทยไม่พอใจที่เจ้าจุลนีฝักใฝ่ต่อญวนซึ่งคล้ายกับเจ้าอนุจึงกวาดต้อนผู้คนในเมืองมหาชัยกองแก้วซึ่งอาจถือว่าเป็นเมืองใหญ่ เป็นแหล่งที่ชนกลุ่มน้อยเผ่าพันธุ์ต่างๆ รวมอยู่หนาแน่นกว่าแห่งอื่นๆ และกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง  กองทัพไทยได้กวาดต้อนไพร่บ้านพลเมืองจำนวนมากที่หลบหนีไปอยู่ตามป่าตามเขาก็ถูกติดตามจับกุมตัวทุกวันมิได้ขาดจนเมืองมหาชัยเกือบไม่มีผู้อาศัย  ชาวเมืองที่กวาดต้อนครั้งนี้มีทั้งพวกลาว กะเลิง ข่าออกกะชวน ทั้งผู้ที่กวาดต้อนข้ามโขงและผู้ที่หลบซ่อนต่างคิดถึงเศร้าโศกเสียใจดังกลอนพื้นเวียงตอนหนึ่งว่า
ฝูงใด                   เป็นพี่น้อง              พลัดพรากหนีกัน
   เขาก็                  นำกุมเอา               กวาดคืนเมือเสี้ยง
   ฝูงหมู่                 ลาวกะเลิงข่า          ออกกะชวนขัดง่อน
   เขาก็                  เต้นไต่ก้อน           ผาขึ้นฮอดดอย
 ไปลอดลี้               ตนอยู่ภูชัน
   เขาก็                 นำเอากัน              ผูกเมือมีไว
       ทุกค่ำเช้า              เขาสอดแสวงหา
       เที่ยวไปมา            สู่วันเลิงเลื้อย
           การกวาดต้อนครัวเมืองต่างๆฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้หยุดชงักไปประมาณ 5 ปี แต่เมื่อไทยและญวนเปิดศึกแย่งชิงอิทธิพลในเขมร การกวาดต้อนผู้คนบริเวณฝั่งซ้ายเพื่อมิให้เป็นประโยชน์ต่อญวนจึงเริ่มขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2376-2388 ดังปรากฏว่าพระมหาเทพซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองนครพนมได้มีใบบอกลงมาว่าจะยกกำลังไปตีเมืองล่าน้ำ เมื่อยกกองทัพไปถึงด่านกือเห็นเป็นช่องทางแคบเดินกองทัพลงไปมิได้จึงตีเมืองมหาชัย เมืองนอง เมืองพลาน เมืองชุมพร แต่เมื่อเดือน 3 ข้างขึ้น ปีมะเส็งเบญจศกได้กวาดต้อนผู้คนครอบครัวข้ามฟากประมาณ 6,000 คน ส่งมาเมืองนครราชสีมา  เอกสารพื้นเวียงได้กล่าวถึงชนพวกข่าที่กวาดต้อนมาจากบนภูเขาทิ้ง โดยเฉพาะการแต่งกายของพวกข่าที่แปลกกว่าพวกลาวหม้อ คือ ใช้ผ้าน้อยชิ้น ใช้เชิงผ้าสองข้างผูกติดกัน แล้วเอาข้าวของใส่ตรงกลางซึ่งทำเป็นถุงสะพาย แล้วใช้บ่าทั้งสองสะพายของนั้นไว้บนหลัง  นุ่งเสื้อผ้านิดเดียวปิดหน้าหลังผู้หญิงนุ่งซิ่นลายดอกสีขาวดำคาดสวมเสื้อสั้นๆ ปิดคอไว้ด้านหลัง เสื้อนั้นปักด้วยด้ายสีแดงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  ม้วนผมเกาะกันผูกไว้ท้ายทอย  จากการกวาดต้อนครั้งนั้นเองทำให้เกิดการแพร่กระจายของพวกข่าและกระโส้ในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะในกุสุมาลย์เอกสารกล่าวว่าพาดพิงถึงการตั้งเมืองกุสุมาลย์ตอนหนึ่งว่า
                พระมหาสงคราม เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเมื่อครั้งก่อนทัพกรุงเทพฯ พระมหานครยกขึ้นตีเมืองมหาชัย เพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตรโตร์ ท้าวบุตร ท้าวนาน พวกกระโส้ได้เข้าหากองทัพสมัครหาท้าวเพี้ยครอบครัวสวามิภักดิ์เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระยามหาอำมาตย์นายทัพนายกอง บุตรหลานท้าวเพี้ยจัดแจงให้ครอบครัวกระโส้ ตั้งอยู่บ้านกุดขมานแขวงเมืองสกลนครเป็นคนท้าวเพี้ย 67 ฉกรรจ์ 612 รวม 679 คน ครัว 2,503 รวมฉกรรจ์ 3,209 ครัว 2,000    กลุ่มชนพวกโส้ดังกล่าวนี้ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า บ้านหนองสิม บริเวณห้วยขมานและมีความสัมพันธ์กับการตั้งชื่อเมืองกุสุมาลย์ในสมัยต่อมา แต่ชาวโส้บางคนก็เห็นว่าชื่อเมืองกุสุมาลย์นั้นแต่เดิมบริเวณเมืองเก่านี้อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นอ้อยและเป็นอาหารของช้างเจ้าเมือง
         อย่างไรก็ตามเมื่อราชวงศ์ ( อิน ) แห่งเมืองสกลนครรับอาสาไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองอุปฉาตราชวงศ์ที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อมใน พ.ศ. 2385 และได้ครัวเมืองวังลงมาเป็นจำนวนมากนั้น ชาวโส้จำนวนไม่น้อยอาจอพยพมาพร้อมๆกับเจ้าโฮงกลางและบางส่วนอาจเข้ามาอยู่ที่เมืองกุสุมาลย์ จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงย้ายมาจากเมืองเก่าไปสู่เมืองใหม่ห่างจากแหล่งเดิมไปทางตะวันตกประมาณ 3 ก.ม. ด้วยเหตุผลที่น้ำแห้งลงไม่พอดื่มพอใช้   เมืองชุมชนที่กุสุมาลย์และพรรณนานิคมมีผู้คนพอที่จะตั้งเป็นเมืองได้แล้ว พระสุนทรราชวงศ์เจ้าเมืองยโสธร พระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคาย พระยาประเทศธานี ( คำ ) ราชวงศ์ ( อิน ) และกรมการเมืองจึงนำครอบครัว บ่าวไพร่ชาวผู้ไทยและข่ากระโส้ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาถวายความจงรักภักดีเป็นประเพณีก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง  ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ท้าวหน่อเมืองสูงหรือเพี้ยเมืองสูงได้นำท้าวกิ่งผู้เป็นบุตรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ศึกษาขนบธรรมเนียมอยู่ 1 ปี เมื่อบิดาถึงแก่กรรมก็ได้รับพระราชทานให้เป็นพระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์ตราตั้งเมืองสกลนคร พ.ศ. 2387 โดยผูกส่วยผลเร่วร่วมอยู่กับเมืองสกลนครเช่นเดียวกับเมืองพรรณนานิคม  ซึ่งผูกส่วยทองคำเป็นตัวเลขในด้านการปกครองนั้นมีกล่าวไว้ในสาส์นตราตอนหนึ่งว่า
         หากเพี้ยไพร่พลจะมีกิจถ้อยความกล่าวฟ้องร้องเกี่ยวข้องเฉพาะกันเป็นแต่ความเบ็ดเตล็ดก็ให้พระเสนาณรงค์  หลวงอรัญอาษาท้าวอุปอาด ท้าวราชวงศ์ ท้าวราชบุตร ท้าววังกฮาด ท้าวอัครวงษ์ ท้าวราชบุตร ท้าวเพี้ยเมืองพรรณา เมืองกุสุมาลย์ปรึกษาหารือกัน ชำระว่ากล่าวพิพากษาตัดสินตามฮีดครองประเพณีเมืองสกลนครให้สำเร็จโดยยุติ ชำระอาญา ... ถ้าเป็นความผิดโทษข้อใหญ่ก็ให้เอาความไปจัดแจงกับพระยาประเทศธานีราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยเมืองสกลนครจะได้ชำระว่ากล่าวตัดสินให้สำเร็จตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองสืบมาแต่ก่อนไป ”  ให้เมืองทั้งสองคิดอ่านไปเกลี้ยกล่อมครอบครัวของพี่ของน้องซึ่งยังตกหนีตกค้างฟากตะวันออกมาเพิ่มเติมใส่บ้านให้ไพร่บริบูรณ์มั่งคั่งบ้านเมืองมีไพร่พลมากขึ้น   พระอรัญอาษาได้เป็นเจ้าเมืองกุสุมาลย์ปกครองนับแต่  พ.ศ. 2387 เป็นต้นมาด้วยความสามารถและไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างใดได้รับคำชมเชยจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อเสด็จมาตรวจราชการ จนถึงเดือน 3 ข้างขึ้น ปีชวด พ.ศ. 2431 จึงเกิดเพลิงไหม้เรือน พระอรัญอาษา เครื่องยศคือพานหมาก คนโทสัปคน และเครื่องยศอื่นๆไหม้หมด อยู่ต่อมาเดือน 3 ข้างแรม ปีชวด สัมฤทธิศก พระอรัญอาษาเจ้าเมืองก็เกิดโรคไข้ทรพิษขึ้นรักษาอย่างใดก็ไม่หาย ครั้งถึงเดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีชวด จึงถึงแก่กรรม กรมการเมืองจึงมีใบบอกให้ราชวงษ์ ผู้ขอรับพระราชทานเป็นที่พระอุปฮาด ท้าวสุวรรณสารผู้ขอรับพระราชทานเป็นราชบุตร ... ให้ตั้งท้าวสุริยเมืองกุสุมาลย์รับพระราชทานเป็นที่พระอรัญอาษาเจ้าเมืองกุสุมาลย์สืบไป